The Killing Field of Choeung Ek
ทุ่งสังหาร “เจืองแอ็ก” อนุสรณ์แห่งความทรงจำอันโหดร้ายของชาวกัมพูชา
เรื่องราวที่สุดแสนสะเทือนใจเกี่ยวกับ เหตุการณ์ความโหดร้ายของกลุ่มคนที่ทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างทารุณในกัมพูชา ที่หลายคนอาจเคยได้ยินมาบ้างแล้ว นั่นก็คือ เหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดง และถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านล่วงเลยมากว่า 40 ปีแล้ว แต่ความทรงจำของเหตุการณ์ความโหดร้ายที่บีบคั้นความรู้สึกเจ็บปวด และความโศกเศร้ากับโศกอนาฏกรรม ยังคงฝังลึกอยู่ในจิตใจของชาวกัมพูชา และเล่าต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งสถานที่ที่กลุ่มเขมรแดงใช้เป็นที่ก่อเหตุการณ์โศกอนาฏกรรม มีอยู่หลายที่ทั่วทั้งพื้นที่ของกัมพูชาเลยก็ว่าได้ สถานที่นั้นเรียกว่า "ทุ่งสังหาร (The Killing Field)" วันนี้จะพาทุกคนไปเรียนรู้เกี่ยวกับทุ่งสังหารในกัมพูชา ที่ตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ นั่นก็คือ ทุ่งสังหาร “เจืองแอ็ก”
ประวัติความเป็นมา
หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1975 เกิดเหตุการณ์อันน่าสลดใจแก่ผู้คนในกัมพูชา ได้รับความทรมานหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่คนในประเทศฆ่ากันเอง โดยกองกำลังของนายพอลพตได้มุ่งหน้าสู่กรุงพนมเปญ ซึ่งกองกำลังนี้ถูกเรียกว่า “ขแมร์รูท” หรือ “เขมรแดง” มีความหมายว่า เขมร คือ กลุ่มชาติพันธุ์หลักของกัมพูชา และ แดงก็คือสีของคอมมิวนิสต์นั่นเอง ในวันนั้นนายพอลพต ผู้นำกองทัพเขมรแดง ได้สั่งให้สังหารชาวกัมพูชากว่า 3 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดราว 8 ล้านคน ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นคนที่มีความรู้ อย่างอาชีพครู แพทย์ นักเรียนนักศึกษา จะถูกสังหารเพราะแค่กลัวว่าคนที่มีความรู้เหล่านี้ จะรวมตัวกันขึ้นมาต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์
และภายในเวลา 48 ชั่วโมง กองกำลังเขมรแดงได้ปิดโรงเรียนและบริษัทห้างร้าน สถานที่อันควรเคารพบูชา และสถานบันเทิงต่างๆ โรงพยาบาล โรงงาน และสถานีตำรวจทั้งหมด ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กทุกคนในเมือง ไม่ว่าจะมีอายุเท่าไรได้ถูกบังคับให้ออกจากเมือง ครอบครัวถูกแยกออกจากกัน และถูกส่งไปคนละทิศคนละทาง ในเวลาเพียง 3 วัน ดินแดนแห่งนี้ก็กลายเป็นรกร้างว่างเปล่า พวกเขาถูกกวาดต้อนส่งไปทำงานใช้แรงงานอย่างหนัก ทั้งวันทั้งคืนโดยไม่ได้พักผ่อน จนหมดแรงและสิ้นชีพลงไปในที่สุด
ปัจจุบันทุ่งสังหารเจืองแอ็กเป็นสถานที่รำลึกถึงผู้ที่ดับสูญไป แม้ว่าจะเป็นเพียง 1 ใน 300 ทุ่งสังหารที่มีอยู่ในกัมพูชา ที่มีประชาชนมากกว่า 2 หมื่นคนถูกฆาตกรรม ถูกประหารอย่างเลือดเย็นด้วยความเกลียดชัง ความโง่เขลา และความกลัว ซึ่งหลังจากซื้อตั๋วเข้าชมแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะให้โบร์ชัวร์เป็นเอกสารประกอบการเข้าชมพร้อมหูฟัง โดยผู้ที่เข้ามาเยี่ยมเยือน สามารถรับฟังประวัติของที่นี่จากเครื่องบันทึกเสียงบรรยายเป็นภาษาต่าง ๆ ได้ทั่วโลก เมื่อเข้ามาด้านในจะมีจุดเยี่ยมชมเป็นจุดๆ ให้หยุดรับชมและรับฟังเสียงบรรยาย
ส่วนไฮไลต์ของการเยี่ยมชมของที่นี่ ซึ่งถือเป็นจุดที่สำคัญก็คือ “สถูปรำลึก” เป็นสิ่งก่อสร้างในพุทธศาสนา ก่อนที่จะเข้าไปในสถูปแห่งนี้จะต้องถอดรองเท้าวางไว้ที่ชั้นวางด้านหน้า เพื่อเป็นการแสดงความเคารพก่อนที่จะเข้าไป ภายในสถูปมีทั้งหมด 17 ชั้น ที่ต้องมีจำนวน 17 ชั้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงวันที่ 17 เมษายน 1975 วันที่เขมรแดงเข้ามาที่กรุงพนมเปญ
เมื่อเดินออกจากสถูปจะมองเห็นอาคารที่อยู่ทางซ้ายมือ นั่นคือ พิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม เกี่ยวกับเบื้องหลังของผู้ที่ก่อความน่าสลดใจนี้ขึ้นในกัมพูชา มีเครื่องแบบเขมรแดง และเครื่องมือในการฆ่าด้วยเช่นกัน และมีภาพยนตร์แสดงภาพสถานที่แห่งนี้เมื่อครั้งแรกที่ค้นพบด้วย
ทุ่งสังหารเจิงเอก ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองพนมเปญไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 13 กิโลเมตร โดยนักท่องเที่ยวสามารถเลือกเดินทางไปยังทุ่งสังหารเจิงเอกได้โดย
รถตุ๊กตุ๊ก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางในเขตเมืองครั้งละประมาณ 2-4 ดอลล่าห์สหรัฐ (USD) หรือเหมาเที่ยวทั้งวันประมาณ 20 ดอลล่าห์สหรัฐ (USD)
รถแท็กซี่ เป็นอีกหนึ่งการเดินทางที่ได้รับความนิยมเนื่องจากความสะดวกสบาย มีบริการมิเตอร์ค่าโดยสาร แต่บางส่วนนิยมใช้บริการแบบพาเหมาเที่ยวรอบเมืองหรือตลอดทั้งวัน
เวลาในการเปิด-ปิดทำการ
เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 17.00 น. โดยมีอัตราค่าบริการ 6 ดอลล่าห์สหรัฐ (USD)/คน (รวมค่าบริการ Audio guide ภาษาต่างๆ รวมถึงภาษาไทยไว้แล้ว)
อ้างอิงข้อมูล
- MGR ONLINE.(2562).The Killing Field - ทุ่งสังหาร “เจืองแอ็ก” อนุสรณ์ความทรงจำอันโหดร้ายแห่งกัมพูชา.สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563, จาก https://mgronline.com/travel/detail/9620000104746
- Pa Lan La.(2563).ทุ่งสังหารเจิงเอก เมืองพนมเปญ ประเทศกัมพูชา.สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563, จาก https://palanla.com/index.php?op=abroadLocation-detail&id=256
- Patcharin Wisa.(2560).เที่ยวเขมร กับ 13 สุดยอดสถานที่ท่องเที่ยวกัมพูชา.สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563, จาก http://mylovecambodialve.blogspot.com/p/blog-page.html
- ไทยรัฐออนไลน์.(2559).ทุ่งสังหาร “เจืองแอ็ก” ความหฤโหดโลกไม่ลืม.สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563, จาก https://www.thairath.co.th/content/747987
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น