ทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับ ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2542 - 2562 (ตอนที่ 1)

สวัสดีค่ะทุกคน ยังจำกันได้ไหมคะ จากที่เราได้ห่างหายไปนานจากการเขียนบล็อกเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจใน Southeast Asia ครั้งนี้เรากลับมาพร้อมกับการที่จะแชร์ความรู้ เกี่ยวกับเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงนั้นมีความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวหลายๆด้าน ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต รวมไปถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ เกริ่นมาแบบนี้แล้ว ทุกคนคงอยากจะรู้แล้วสินะคะว่า กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง มีอัตลักษณ์ของตัวเองยังไง งั้นก็ขอให้ทุกคนได้รับความรู้จากการอ่านบล็อกนี้ได้เลยค่าาาาาา

***บล็อกที่ให้ข้อมูลเรื่อง การทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับ ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง มีทั้งหมด 3 ตอน ขอให้ทุกคนติดตามให้ครบทั้ง 3 ตอนด้วยนะคะ ^^



ทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับ ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2542 - 2562 

มารู้จักกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกันเถอะ!



กะเหรี่ยง มีถิ่นฐานดั้งเดิมแถบบริเวณทางเหนือของประเทศพม่าและไทย เมื่อประมาณ 600 – 700 ปีมาแล้ว ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตประเทศพม่า และมีบางส่วนได้อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศไทยเป็นเวลานาน โดยตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณรอบนอกเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 การอพยพครั้งใหญ่ของชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากเข้าสู่ประเทศไทย ได้เกิดราว 200 กว่าปีมาแล้ว อันเนื่องมาจากสงครามไทยรบพม่าสมัยพระเจ้าอลองพญา และมีการอพพยพเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง ประมาณปี พ.ศ.2428 เมื่อประเทศอังกฤษได้เข้ายึดครองประเทศพม่า กะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างหนาแน่นในแถบบริเวณต้นน้ำสาละวิน ทางด้านทิศตะวันออกและบริเวณต้นน้ำแม่ปิง แล้วกระจายตัวไปตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี ตั้งแต่ภาคเหนือของประเทศไทยลงไปปจนถึงบริเวณคอคอดกระ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มย่อย คือ


1.สะกอ มีชื่อเรียกตนเองว่า “จญ่ากอ” บ้าง “ปกาเกอะญอ” บ้าง มีภาษาพูดคือ ภาษาสะกอ เป็นกลุ่มย่อยที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด กระจายตัวอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ที่ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ตั้งแต่ แรกเริ่ม ส่วนมากอาศัยอยู่ในจังหวัดทางภาคเหนือตอนบน


2.โป มีชื่อเรียกตนเองอย่างชัดเจนว่า “โพล่ง” หรือ “พล่ง” มีภาษาพูดคือ ภาษาโป ส่วนใหญ่อาศัย อยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน กาญจนบุรี อุทัยธานี ราชบุรี และเพชรบุรี 

3. ปะโอ หรือตองสู มีภาษาพูดคือ ภาษาปะโอ อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัด เชียงราย มีหมู่บ้านปะโอ 4 หมู่บ้าน อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน คือ บ้านห้วยสะลอบ ตำบล ห้วยผา และบ้านห้วยขาน บ้านนาป่าแปก บ้านห้วยมะเขือส้ม ตำบลหมอกจำแป่



4.คะยา หรือกะเหรี่ยงแดง มีภาษาพูดคือ ภาษากะยา หรือบะเว อาศัยอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 7 หมู่บ้าน คือ บ้านดอยแสงและบ้านไม้สะเป ตำบลปางหม บ้านห้วยผึ้ง ตำบลห้วยผา บ้านทบศอก และบ้านห้วยโป่งอ่อน ตำบลหมอกจำแป่ บ้านห้วยช่างคำ ตำบลห้วยโป่ง และบ้านห้วยเสือเฒ่า ตำบลผาบ่อง



กะเหรี่ยงกลุ่มต่างๆ เหล่านี้มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน แต่การแต่งกายของแต่ละกลุ่มมีลักษณะเฉพาะของตนเองที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ฉะนั้นลักษณะการแต่งกายจึงเป็นส่วนหนึ่ง ที่สามารถบ่งชี้ให้เห็นได้ชัดเจนถึงเอกลักษณ์ของกะเหรี่ยงแต่ละที่ และแต่ละกลุ่ม การแต่งกายของเด็กและหญิงสาว จะเป็นชุดทรงกระสอบ ผ้าฝ้ายพื้นขาว ทอหรือปักประดับลวดลายให้งดงาม ส่วนหญิงที่มีครอบครัวแล้วจะสวมเสื้อสีดำ น้ำเงิน และผ้านุ่งสีแดงคนละท่อน ตกแต่งด้วยลูกเดือย หรือทอยกดอก ยกลาย สำหรับผู้ชายกะเหรี่ยงนั้นส่วนมากจะสวมเสื้อตัวยาวถึงสะโพก ตัวเสื้อจะมีการตกแต่งด้วยแถบสีไม่มีการปักประดับเหมือนเสื้อผู้หญิง นุ่งกางเกงสะดอ นิยมใช้สร้อยลูกปัดเป็นเครื่องประดับ และสวมกำไลเงินหรือตุ้มหู อีกทั้งกะเหรี่ยงเป็นชนเผ่าที่จัดได้ว่ามีหลายเผ่าพันธุ์ หลายภาษา แต่ละเผ่ามีภาษาพูด และภาษาเขียนเป็นของตนเอง โดยการดัดแปลงมาจากตัวหนังสือพม่า ผสมอักษรโรมัน
เดิมชาวกะเหรี่ยงนับถือผี มีการบวงสรวงและเซ่นสังเวยอย่างเคร่งครัด ภายหลังหันมานับถือศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์มากขึ้น แต่ก็ยังคงความเชื่อเดิมอยู่ไม่น้อย เช่น ความเชื่อเรื่องขวัญหรือการทำกิจกรรมต่างๆ จะต้องมีการเซ่นเจ้าที่เจ้าทาง และบอกกล่าวบรรพชนให้อุดหนุนค้ำจูน ช่วยให้กิจการงานนั้นๆ เจริญก้าวหน้า ทำเกษตรกรรมได้ผลผลิตดี ให้อยู่เย็นเป็นสุข ปกป้องคุ้มครองดูแล และยังเป็นการขอขมาอีกด้วย ยกตัวอย่างพิธีกรรม เช่น กี่บะหน่าจึ (ปวาเกอญอ) หรือ พิธีทำขวัญให้ควาย ,ถางซีไกงย หรือ พิธีขับไล่สิ่งชั่วร้ายโรคภัยไข้เจ็บออกจากหมู่บ้าน และนี่ซอโค่ หรือ พิธีขึ้นปีใหม่ เป็นต้น

จากความสำคัญดังกล่าวข้างต้นผู้จัดทำจึงได้ทำการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับ เรื่องชาติพันธุ์กะเหรี่ยง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจองค์ความรู้อื่นเกี่ยวกับชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เพื่อเป็นฐานข้อมูลเกี่ยวกับกะเหรี่ยง เพื่อให้ทราบถึงข้อค้นพบ และประเด็นต่างๆที่เคยศึกษาเกี่ยวกับกะเหรี่ยง และนำไปใช้ในการต่อยอดและสร้างสรรค์งานใหม่ในรูปแบบ งานวิจัย เขียนหนังสือ ทำสารคดี  โดยผู้จัดทำได้ใช้วิธีการศึกษาโดยการสำรวจเอกสารประเภท หนังสือ บทความ และสื่อวีดีทัศน์ จากแหล่งข้อมูลต่างๆเช่น ห้องสมุด  ThaiLIS, Thaijo ,Youtube และเว็บไซต์อื่นๆ เผยแพร่ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2542 ถึง 2562 จำนวนทั้งสิ้น 17 รายการ
ผู้จัดทำได้ทำการแบ่งการนำเสนอการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับเรื่อง ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ตีพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2542–2562 ออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่
1.บทนำ
2.งานศึกษาจากเอกสารและวีดีทัศน์เกี่ยวกับชาติพันธุ์กะเหรี่ยง
3.สรุปและข้อเสนอแนะ

งานศึกษาจากเอกสารและวีดีทัศน์เกี่ยวกับชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

            การทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับ เรื่องชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ตีพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2542-2562 ผู้ศึกษาได้ศึกษาโดยการสำรวจเอกสารประเภท หนังสือ งานวิจัย บทความ และสื่อวีดีทัศน์ จากแหล่งข้อมูลต่างๆเช่น ห้องสมุด  ThaiLIS , Thaijo , Youtube และเว็บไซต์อื่นๆ ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2542 ถึง 2562 จำนวนทั้งสิ้น 17 รายการ ทั้งนี้ได้ จัดกลุ่มย่อยของเนื้อหาในแต่ละด้านที่มีการศึกษาไว้ 5 กลุ่ม ได้แก่  1.ด้านประวัติความเป็นมา  2.ด้านภูมิปัญญาและวิถีชีวิต  3.ด้านสังคม วัฒนธรรม และประเพณี  4.ด้านศาสนาและความเชื่อ  5. ด้านสื่อวีดีทัศน์  ดังนี้

1.      ด้านประวัติความเป็นมา
การทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับ เรื่องชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ตีพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2542-2562 ที่ศึกษาด้านประวัติความเป็นมา นั้นผู้จัดทำได้สืบค้นข้อมูลมาแล้ว ได้ข้อมูลจากหนังสิอ 1 เล่ม ดังนี้

หนังสือของ สุนทรี พรหมเมศ (2544) เรื่อง ชาวเขาในประเทศไทย เป็นหนังสือที่ศึกษาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา และที่มาของชื่อชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ซึ่งที่มาของชื่อ  คือมาจากคำว่า กะเร็น เป็นคำภาษาอังกฤษ (Karen) แต่คนไทยภาคกลางเรียกว่า กะเหรี่ยง พม่าเรียกว่า กะยิน (Kayin) โดยชาวกะเหรี่ยงนี้มีประวัติความเป็นมาจากเผ่าตระกูลทิเบต -พม่า ประวัติของกะเหรี่ยงเป็นที่รู้จักกันน้อย มีการสันนิษฐานว่า เดิมอยู่ในดินแดนด้านตะวันออกของทิเบต แล้วเข้ามาตั้งอาณาจักรอยู่ในประเทศจีน เมื่อ733 ปีก่อนพุทธกาล หรือประมาณ 3,238 ปีมาแล้ว ภายหลังถูกรุกราน จึงหนีลงมาตามลำน้ำแยงซีเกียง เกิดปะทะกับคนชาติไทย จึงถอยร่นลงมาตามลำน้ำโขง กับแม่น้ำสาละวินในเขตพม่า มีการกล่าวถึงบันถึงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกะเหรี่ยงที่น่าเชื่อถือได้ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ซึ่งได้จากข้าราชการชาวอังกฤษ และหมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน คือในระหว่างสงครามอังกฤษกับพม่า กะเหรี่ยงและมอญก็ถือโอกาสก่อการกบถต่อต้านพม่า แต่ก็ถูกพม่าตีโต้กลับมาในที่สุด ทำให้กะหรี่ยงและพม่าต่อสู้กันอยู่เสมอ ทำให้กะเหรี่ยงในไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่อพยพมาจากพม่ามีทัศนะที่ดีต่อรัฐบาลไทยมากกว่ารัฐบาลพม่า

ที่มา PloypakaCtr

สรุปด้านประวัติความเป็นมา จากการทบทวนวรรณกรรมงานที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงนั้น ส่วนมากจะพบในหนังสือที่มีเนื้อหา อย่างเช่น เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อย ชาวเขาเผ่าต่างๆ ซึ่งจะมีการอธิบายถึงประวัติความเป็นมาของชาวเขาเผ่าต่างๆ ไว้ด้วย แต่ผู้จัดทำได้หยิบยกมาเฉพาะข้อมูลของกะเหรี่ยงซึ่งมีเนื้อหาค่อยข้างครอบคลุมเลยทีเดียว ทำให้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของกะเหรี่ยงได้อย่างเข้าใจ 


2. ด้านภูมิปัญญาและวิถีชีวิต
การทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับ เรื่องชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ตีพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2542-2562 ที่ศึกษาด้านภูมิปัญญาและวิถีชีวิต นั้นผู้จัดทำได้สืบค้นข้อมูลมาแล้ว ได้ข้อมูลจากหนังสิอ 1 เล่ม และบทความ 3 บทความ ดังนี้

หนังสือของ สังคีต จันทนะโพธิ (2542) เรื่อง คนภูเขา ชาวกะเหรี่ยง  เป็นหนังสือเกี่ยวกับงานเขียนที่ผู้เขียนได้ไปประสบพบเจอด้วยตัวเองจริง และเขียนเป็นบันทึกออกมา โดยผู้เขียนใช้ช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ที่ละทิ้งความสุขสบาย ความศิวำลซ์ในเมืองหลวง ไปท่องตามสันดอยบนเขา ไปตามพงไพร เพื่อต้องการสัมผัสรับรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมอันงดงามของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ซึ่งหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงวิถีชีวิตทั้งในอดีตและปัจจุบันของกะเหรี่ยง ลักษณะบ้านเรือนความเป็นอยู่ รวมไปถึงขนบธรรมเนียมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นพิธีแต่งงาน พิธีงานศพ เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกระจายตัวกันอยู่ของชาวกะเหรี่ยงในประเทศไทย ที่มีการกระจายตัวตามแหล่งที่อยู่อาศัยกันจำนวนมากในหลายพื้นที่



บทความของ ณงค์ณุช นทีพายัพทิศ (2557) เรื่อง อัตลักษณ์ผ้าทอกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ เป็นบทความที่ศึกษาเกี่ยวกับอัตลักษณ์ผ้าทอกะเหรี่ยงปกาเกอะญอมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอัตลักษณ์ผ้าทอกะเหรี่ยงปกาเกอะญอมาบูรณาการกับการเรียนการสอนเชิงสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติใช้แนวคิดและทฤษฎีอัตลักษณ์ การบูรณาการกลุ่มเป้ าหมาย คือ กะเหรี่ยงปกาเกอะญอ 7 หมู่บ้าน ตําบลทากาศเหนือ อําเภอบ้านทาจังหวัดลําพูน และนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ ชั้นปีที่ 3จํานวน 25 คนใช้เครื่องมือแบบสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง และการสนทนากลุ่มแบบปฏิบัติการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา ผลการวิจัยพบว่า อัตลักษณ์ผ้าทอมือกะเหรี่ยงปกาเกอะญอมีลวดลายทอที่แฝงคติความเชื่อ ตามเรื่องเล่าและคําสอน พิธีกรรม วิถีชีวิต จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบทฤษฎีกับอัตลักษณ์และทฤษฎีการบูรณาการ โดยใช้ลวดลายทอเป็นสื่อสัญลักษณ์สร้างสรรค์ลวดลายผ้าทอกะเหรี่ยงปกาเกอะญอบนบรรจุภัณฑ์ ที่เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือกะเหรี่ยงปกาเกอะญอสู่เศรษฐกิจชุมชนด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์กะเหรี่ยง

บทความของ ตุนท์ ชมชื่นและสมชาย ใจบาน (2558) เรื่อง การเสริมสร้างศักยภาพการผลิต ผลิตภัณฑ์ชุมชุนผ้าทอกะเหรี่ยงตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ : กรณีตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นวารสารที่ศึกษาเกี่ยวกับการวิจัยเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการผลิต ผลิตภัณฑ์ชุมชนผ้าทอกะเหรี่ยงตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กรณีชุมชนตําบลแม่ยาว อําเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นการวิจัยปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม โดยดําเนินในพื้นที่ชุมชน ตําบลแม่ยาว อําเภอเมือง จังหวัดเชียงราย มีสตรีผู้ผลิตผ้าทอกะเหรี่ยงเข้าร่วมโครงการ 50 คน จาก 3ชุมชน คือ ชุมชนบ้านรวมมิตร ชุมชนบ้านห้วยขม และชุมชนแคววัวดํา ผลการวิจัยพบว่า ผ้าทอกะเหรี่ยง เป็นผ้าทอที่คงความเป็นเอกลักษณ์เดิมในความเป็นวัฒนธรรมของชนเผ่ากะเหรี่ยงทั้งในด้านวิธีการขั้นตอนการทอและลวดลายต่าง ๆ การเสริมสร้างศักยภาพการผลิต ผลิตภัณฑ์ชุมชนผ้าทอผ้ากะเหรี่ยง มีกระบวนการดําเนินงาน 5 ขั้นตอน โดยมีผลการดําเนินงานที่สําคัญ คือ สตรีที่เข้าร่วมโครงการ มีความมั่นใจ ภาคภูมิใจ พึงพอใจในการพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ผ้าทอกะเหรี่ยงของตนและความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องอยู่ในระดับเห็นด้วยอย่างยิ่งและมีความความพึงพอใจต่อผลิตภัณฑ์ผ้าทอกะเหรี่ยงในระดับมาก

บทความของ พระอธิการทวีศักดิ์ กิตฺติญาโณ(วรกิจเจริญวงค์) (2561) เรื่อง การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยง บ้านพระบาทห้วยต้มตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นบทความศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยง บ้านพระบาทห้วยต้ม ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยง ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ได้แก่ ประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนกะเหรี่ยงบ้านพระบาทห้วยต้ม ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน จำนวนทั้งสิ้น 25 ราย คัดเลือกผู้ที่อาศัยในพื้นที่เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยง โดยใช้แบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลผลการวิจัยพบว่า การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชน เกิดจากสภาพวิถีชีวิตของชุมชนในอดีตและปัจจุบัน ประกอบด้วยด้านครอบครัว ด้านอาชีพ ด้านการศึกษา ด้านการปกครอง ด้านศาสนาและวัฒนธรรม และด้านเทคโนโลยี และมีสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในชุมชน ประกอบด้วยสาเหตุภายใน ได้แก่ สาเหตุจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ความต้องการทางด้านวัตถุ การยอมรับประเพณีและวัฒนธรรมใหม่ๆ เข้ามาในชุมชน สาเหตุจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เมื่อรับวัฒนธรรมภายนอกเข้ามา ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงแปลงไปด้วย และสาเหตุจากความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรมการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ส่วนสาเหตุภายนอก ได้แก่ เกิดจากสาเหตุด้านการพัฒนาของภาครัฐ และสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านพระบาทห้วยต้ม ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

สรุปด้านภูมิปัญญาและวิถีชีวิต เป็นงานทบทวนวรรณกรรมที่ค่อนข้างโดดเด่นและมีเยอะมาก แต่ผู้จัดทำได้ยกมาแค่บางส่วนที่น่าจะเห็นภาพและทำความเข้าใจง่าย ซึ่งการทอผ้าของชาวกะเหรี่ยงนั้นเป็นภูมิปัญญาเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งยังมีการประยุกต์เอาหลักเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้กับภูมิปัญญาของตนเอง ทำให้เป็นที่น่าสนใจของผู้คน ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้แล้ว เมื่อชาวกะเหรี่ยงได้รับการยอมรับในสังคมแล้ว ทำให้มีตัวตนในสังคมมากขึ้น  ก็ส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงเปลี่ยนแปลงไปด้วยความบริบทของสังคม


จบไปแล้วนะคะสำหรับตอนที่1 ที่พาทุกคนไปรู้จักกับกะเหรี่ยงกลุ่มต่างๆ และนำเสนอการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับ  ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ทั้งในด้านประวัติความเป็นมา และด้านภูมิปัญญาและวิถีชีวิต ตอนต่อไปนั้นจะนำเสนอในด้านสังคม วัฒนธรรม และประเพณี  และด้านศาสนาและความเชื่อ ต่อไป ฝากติดตามด้วยนะคะ 😊😊😊


อ้างอิงที่มา

-         -  สังคีต จันทนะโพธิ.(2542). คนภูเขา ชาวกะเหรี่ยง.สำนักพิมพ์ธารบัวแก้ว.  

-         -  สุนทรี พรหมเมศ.(2544).ชาวเขาในประเทศไทย.สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

-          - ณงค์ณุช นทีพายัพทิศ.(2557).อัตลักษณ์ผ้าทอกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ.วารสารการพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิต,2(1),หน้า 113-121

-          - ตุนท์ ชมชื่น,สมชาย ใจบาน.(2558, เมษายน-พฤษภาคม).การเสริมสร้างศักยภาพการผลิต ผลิตภัณฑ์ชุมชุนผ้าทอกะเหรี่ยงตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ : กรณีตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย.วารสารการพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิต,3(2),หน้า203-214.

-         -  พระอธิการทวีศักดิ์ กิตฺติญาโณ(วรกิจเจริญวงค์).(2561,มกราคม-มิถุนายน).การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยง บ้านพระบาทห้วยต้มตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน.วารสารปัญญา,25(1),หน้า 51-63








ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระวัชรปาณีโพธิสัตว์ แห่งพุทธมหายาน

ว่ายน้ำกับฉลามวาฬ มิติใหม่ที่เมืองDonsol